เป็นฐานรากแบบตื้นและแผ่กว้าง เพื่อให้สามารถถ่ายน้ำหนักของอาคาร กระจายลงสู่พื้นดินได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ดินสามารถรับน้ำหนักบรรทุกของอาคารได้โดยปลอดภัย

 

1. การพิจารณาเลือกใช้ฐานรากชนิดแผ่

1.1 ชั้นดินที่ก่อสร้างสามารถรับน้ำหนักบรรทุกของอาคารได้ หากชั้นดินสามารถรับน้ำหนักบรรทุกที่กระทำได้ต่ำ ก็ควรใช้ฐานรากที่มีเสาเข็มดีกว่าเพราะการดำเนินก่อสร้างง่ายกว่าและประหยัดกว่า

1.2 ถ้าเป็นอาคารที่มีน้ำหนักบรรทุกไม่มากนักหรือบ้านพักอาศัย หากพบว่าดินที่ใช้ก่อสร้างเป็นดินทราย สามารถใช้เครื่องสั่นสะเทือนกระแทกให้ดินที่จะวางฐานรากแน่นเสียก่อน จะสามารถใช้ฐานรากแบบแผ่ได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้

1.3 ในกรณีที่ดินใต้ฐานรากเป็นลักษณะดินอ่อนไม่ควรใช้ฐานรากแผ่ ควรใช้ฐานรากที่มีเสาเข็มดีกว่าเพราะสามรถรับน้ำหนักได้ดีกว่า และลดการทรุดตัวเมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งดินบางจุดแข็ง บางจุดอ่อน ซึ่งส่วนนี้ต้องระวังอาจเกิดการทรุดตัวที่ไม่เท่ากัน จะทำให้บ้านหรืออาคารพังทลายได้

2. การกำหนดความลึกของฐานราก

ความลึกของฐานรากแผ่ จะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและความสะดวกในการก่อสร้างเป็นหลัก เพราะถ้าฐานรากมีความลึกมาก ๆ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการขุดดินและขั้นตอนการก่อสร้างจะทำได้ลำบาก โดยประมาณความลึกของฐานรากจากผิวดินควรน้อยกว่าหรือเท่ากับความกว้างของฐานรากนั้น ๆ อย่างไรก็ดีอาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน

 

 

3. ขั้นตอนการทำฐานรากแผ่

3.1 ขุดดินให้มีความลึก ขนาด และตำแหน่งของถูกต้องตามแบบก่อสร้างโดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักร ในการขุดดินนั้นต้องเผื่อการบดอัดทรายหรือกรวด เทคอนกรีตหยาบ (lean concrete) เผื่อการเข้าแบบด้านข้าง ถ้าดินมีลักษณะอ่อนตัวเป็นดินเหลวเป็นโคลน ให้ขุดดินอ่อนออกจนหมดแล้วใช้ทรายถม หากดินไม่เหลวมากให้เทคอนกรีตหยาบเพื่อรองรับเหล็กเสริมที่จะทำฐานราก หรือออกแบบฐานรากให้สูงขึ้น ในกรณีที่ดินลื่นไถลอาจขุดดินให้มีความลาดเพื่อป้องกันดินพังทลาย หรือใช้แผ่นเหล็กหรือวัสดุอื่นที่สามารถนำมาตอกโดยรอบ เพื่อป้องกันดินพังทลายลงในขณะก่อสร้างฐานรากด้วย

3.2 ตรวจสอบความลึกหรือระดับดินก้นหลุมก่อนหนึ่งครั้ง เมื่อระดับดินขุดได้แล้วจะทำการบดอัดทรายหรือกรวด เพื่อให้ดินแน่นสามารถรับน้ำหนักได้ดีขึ้น

3.3 เมื่อบดอัดดินจนแน่นแล้วทำการตรวจสอบระดับดินที่บดอัดจนแน่นของฐานราก จากนั้นเทคอนกรีตหยาบ (lean concrete) ทับบนทรายบดอัดแน่น ความหนาของคอนกรีตหยาบเป็นไปตามแบบก่อสร้าง การเทคอนกรีตหยาบก่อนวางฐานรากจะช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำใต้ฐานรากได้

3.4 เมื่อเทคอนกรีตหยาบเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปติดตั้งแบบหล่อฐานรากจะใช้แบบหล่อไม้ หรือแบบหล่อเหล็ก หรือก่ออิฐเป็นแบบหล่อก็ได้ รวมทั้งค้ำยันให้แข็งแรง งานฐานรากที่ก่อสร้างบนดินเหนียวลักษณะเป็นดินเลน มีปัญหาเรื่องการค้ำยันและแบบเทคอนกรีตแตกควรเทคอนกรีตหยาบรองพื้น ก่อนทำการค้ำยันแบบเพื่อสามารถยึดค้ำยันให้แข็งแรง

3.5 วางเหล็กเสริมฐานราก และเสาตอม่อ ในขั้นตอนนี้ต้องตรวจสอบศูนย์กลางเสาตอม่อ ขนาดและระยะงอของเหล็กเสริมต้องเป็นไปตามแบบก่อสร้างหรือมาตรฐาน ว.ส.ท. ระยะหุ้มคอนกรีตถึงผิวเหล็กอย่างน้อย 7.5 ซม.

3.6 เทคอนกรีตฐานราก ก่อนเทคอนกรีตต้องทำความสะอาด หาระดับการเทคอนกรีตโดยใช้กล้องระดับหาระดับเทียบกับระดับอ้างอิงให้ได้ความหนาของฐานรากตามที่ต้องการ และราดน้ำปูนในแบบหล่อก่อน จากนั้นจึงเทคอนกรีตโดยที่กำลังของคอนกรีต และค่าการยุบตัว (Slump) ได้ตามที่ระบุไว้ในแบบ และต้องมีการเก็บตัวอย่างคอนกรีตที่เทเพื่อตรวจสอบกำลังอัด

3.7 ทำให้คอนกรีตแน่นสม่ำเสมอโดยการสั่นด้วยเครื่องสั่นคอนกรีตหรือกระทุ้งด้วยมือ เมื่อเทคอนกรีตได้ระดับตามแบบก่อสร้าง แต่งผิวหน้าคอนกรีตให้เรียบ เป็นการเสร็จสิ้นการเทคอนกรีตฐานราก

ในการสร้างฐานรากควรหลีกเลี่ยงการวางฐานรากที่ต่างระดับกันเพราะจะทำให้ดินที่อยู่ระหว่างฐานรากทั้งสองฐานรับน้ำหนักมากกว่าดินบริเวณอื่น เกิดหน่วยแรงเค้นซ้อนทับกัน (Stress Overlapping) ซึ่งจะทำให้ฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องวางฐานรากในพื้นที่ที่มีความลาดเอียงระยะห่างระหว่างฐานรากควรเกินกว่า 45 องศา เพื่อป้องกันการหน่วยแรงเค้นซ้อนทับกัน ส่วนการก่อสร้างให้ก่อสร้างฐานรากที่มีความลึกที่สุดก่อนเพื่อไม่ให้ฐานรากที่ตื้นกว่าพังขณะทำฐานรากตัวที่ลึกกว่า

 

บทความโดย : สุพรรณ์ ถึงเสียบญวน